ระบบฐานข้อมูล
สารสนเทศสินค้าเกษตร

จังหวัดกาญจนบุรี

ทีมวิจัยไบโอเทค พัฒนาชุดตรวจ ‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ แนะเลี่ยงท่อนพันธุ์ต่างถิ่น

‘นักวิจัย’ ไบโอเทค สวทช. พัฒนาเทคโนโลยีชุดตรวจ Strip Test สู้ ‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ เพื่อแก้วิกฤติโรคพืชระบาดที่ชาวไร่มันสำปะหลังทั่วประเทศประสบปัญหาอยู่ แนะหากตรวจเจอแล้วให้ทำลายทิ้งให้หมด ฝังกลบลึกๆ และเลือกใช้ท่อนพันธุ์ที่ปลอดเชื้อต้านทานโรค

ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.อรประไพ คชนันทน์, ดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ และ ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล แนะนำเทคโนโลยีชุดตรวจ Strip Test สู้ ‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ โรคระบาดในไร่มันสำปะหลังที่กำลังประสบปัญหาอยู่ทั่วทุกภูมิภาค 

ดร.อรประไพ คชนันทน์ หัวหน้าทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) เป็นโรคอุบัติใหม่ที่พบการแพร่ระบาดในพื้นที่เพาะปลูกในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เกิดจากการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังมาปลูก ในกรณีที่ระบาดรุนแรงสร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้ถึง 30-80%

...

ADVERTISEMENT
Ads by

หัวหน้าทีมวิจัยการผลิตฯ กล่าวต่อว่า ทีมนักวิจัยฯ ได้พัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ Strip test ที่พกพาไปใช้ในภาคสนาม โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ ทราบผลได้ใน 15 นาที และตรวจสอบได้เองโดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการ หรือเครื่องมือวัดอ่านผล เป็นประโยชน์อย่างมากในการตรวจคัดกรอง และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย รวมถึงการตรวจหาเชื้อในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการผลิตต้นพันธุ์มันสำปะหลังปลอดเชื้อ

“สำหรับชุดตรวจ Strip test มีความแม่นยำร้อยละ 96 ความจำเพาะเจาะจงร้อยละ 100 และความไวร้อยละ 91 ซึ่งได้ผลิตต้นแบบชุดตรวจ Strip test และนำชุดตรวจไปทดสอบการใช้งานจริงกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โดยได้มีการจัดฝึกอบรมเรื่อง “การตรวจวินิจฉัย เชื้อ Sri Lankan cassava mosaic virus ในตัวอย่างมันสำปะหลังด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test” และส่งมอบชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นให้หน่วยงานต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ในการตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังแล้วหลายภูมิภาค” ดร.อรประไพ กล่าว

หัวหน้าทีมวิจัยการผลิตฯ กล่าวอีกว่า สำหรับหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทเอกชนที่มีความต้องการตรวจสอบตัวอย่างจำนวนมาก และต้องการจัดตั้งเป็นศูนย์ตรวจคัดกรองโรคในพื้นที่ ทางทีมวิจัยฯ ยังได้พัฒนาเทคนิคการตรวจกรองไวรัสใบด่างมันสำปะหลังโดยใช้ เทคนิคอิไลซ่า (ELISA) ซึ่งเป็นวิธีการที่มีความถูกต้อง ราคาไม่แพง ชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นมีความไว (sensitivity) ในการตรวจมากกว่าชุดตรวจที่มีการขายในเชิงการค้า และมีราคาถูกกว่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ สามารถตรวจกรองโรคใบด่างมันสำปะหลังได้ในทุกขั้นตอนของการผลิตและเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการอิไลซ่าให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจจำนวน 6 แห่ง และมีแผนที่จะขยายเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นทั้ง 2 รูปแบบ ได้มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์ และสาธารณประโยชน์เรียบร้อยแล้ว 

นายชวินทร์ ปลื้มเจริญ นักวิชาการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) กล่าวว่า ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา โรคใบด่างมันสำปะหลังได้สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นแหล่งที่ส่งออกท่อนพันธุ์ โรคใบด่างฯ ลุกลามและแพร่ระบาดมาถึงจังหวัดยโสธร อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ โดยต้นตอเกิดจากเกษตรกรนำท่อนพันธุ์จากต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่ และไม่ทราบว่าต้นพันธุ์ที่นำมาปลูกนั้นติดโรคใบด่าง นอกจากท่อนพันธุ์ที่ปนเปื้อนเชื้อแล้ว พาหะโรคที่สำคัญอีกชนิด คือ แมลงหวี่ขาว ที่มักมาดูดกินน้ำเลี้ยงจากลำต้น ทำให้การระบาดลุกลามวงกว้าง

...

นักวิชาการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวต่อว่า ดังนั้นการมีองค์ความรู้และการพัฒนาชุดตรวจโรคใบด่าง ที่ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช.พัฒนาขึ้นมา เพื่อนำไปให้เกษตรกรสามารถใช้ตรวจได้ด้วยตัวเกษตรกรเอง และรู้ผลได้รวดเร็วภายใน 15 นาที จะช่วยช่วยลดผลกระทบจากโรคใบด่างลดลงได้ ทั้งนี้ สวทช.เห็นความสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยจัดการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานคัดเลือกเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์พื้นที่ เพื่อใช้จัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ ยกระดับรายได้ของเกษตรกร

...

นายชวินทร์ กล่าวอีกว่า มีการอบรมเกษตรกรภายใต้โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังในระบบอินทรีย์ด้วยกลไกตลาดนำการผลิต แก่กลุ่มเกษตรกร 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ เพื่อขยายผลองค์ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับมาตรฐาน สร้างเครือข่ายผู้ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินงานโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับตัวชี้วัดในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับมาตรฐาน เพิ่มประสิทธิภาพเกษตรปลอดภัย และเชื่อมโยงพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร ทั้งกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐท้องถิ่น โดย บริษัท อุบล ไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“โครงการนี้ สวทช. มุ่งเน้นบูรณาการชุดองค์ความรู้ต่างๆ เช่น พันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมกับชุดดิน การจัดการดินและปุ๋ยร่วมกับการจัดการแปลง การเก็บเกี่ยว และแปรรูป การจัดการโรคและแมลง มุ่งเน้นการตรวจติดตาม เฝ้าระวัง ใช้ชุดตรวจไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งช่วงการระบาดของโรคใบด่าง ทีม สวทช.ได้นำชุดตรวจไปอบรมให้เกษตรกร เพื่อนำไปใช้คัดกรองต้นมันสำปะหลังในแปลงได้ทันที ซึ่งชุดตรวจโรคใบด่างจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกษตรกรมั่นใจว่าแปลงมันสำปะหลังของตนเองนั้นจะเป็นแปลงที่ติดโรคใบด่างหรือไม่ และหากพบว่าติดโรคใบด่างก็สามารถถอนทำลายต้นพันธุ์ทิ้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่แปลงปลูกข้างเคียง ลดความเสียหายได้” นักวิชาการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าว

...

ส่วน ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล หนึ่งในทีมวิจัยที่พัฒนาชุดตรวจ กล่าวถึงขั้นตอนการใช้ชุดตรวจว่า ชุดตรวจ Strip test ใช้งานง่ายเพียง 3 ขั้นตอน คือ 1.นำใบพืชที่ต้องการตรวจมาบดในบัพเฟอร์ที่เตรียมไว้ให้ ขั้นตอนนี้นักวิจัยแนะให้เกษตรกรเก็บส่วนที่เชื้อไวรัสจะสะสมมากสุด คือ ยอดอ่อน จากนั้นแนะนให้บดตัวอย่างให้ละเอียดก่อน 2.จุ่มตัว Strip test ลงไปในน้ำคั้นใบพืชที่บดได้ และ 3.รอ 15 นาทีแล้ว อ่านผลจากแถบสีที่เกิดขึ้นคล้ายกับการตรวจโตวิด-19 ด้วยชุด ATK หากขึ้น 2 ขีด ณ ตำแหน่ง T และ C แสดงว่าตัวอย่างติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หากขึ้น 1 ขีด ณ ตำแหน่ง C แสดงว่าตัวอย่างไม่ติดโรค

สำหรับหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทเอกชนที่มีความเทคโนโลยี สามารถติดต่อทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. 0-2564-7000.

Tag : โรคใบด่างมันสำปะหลัง
สถานที่สำคัญอื่นๆ