ระบบฐานข้อมูล
สารสนเทศสินค้าเกษตร

จังหวัดกาญจนบุรี

3 ปี พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างผลิตภัณฑ์มูลค่า 7.8 แสนล้านบาท

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงความคืบหน้าของการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ที่มี สศก.เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการบูรณาการขับเคลื่อนแผนงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงต่างๆ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565) พบว่า สามารถช่วยยกระดับกลุ่มเป้าหมายทั้งประชาชนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรรายย่อย สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ผลิต/ผู้ประกอบการได้มากกว่า 1.32 ล้านราย รวม 4,337 กลุ่ม เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนมากกว่า 15,137 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่าจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนมากถึง 781,066 ล้านบาท

ด้าน ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯมีการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากทั้งสิ้น 15 โครงการ อาทิ โครงการบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส สามารถช่วยเข้าถึงที่ดินทำกิน และได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินทั้งเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 และเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 (ช) ได้ตามเป้าหมาย

โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร สามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีเฉลี่ยครัวเรือนละ 6,298 บาท/รอบการผลิต และโครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร สามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/ชุมชนและวิสาหกิจชุมชน 729 แห่ง

“นอกจากนี้ ในส่วนของกลุ่มโครงการที่ช่วยสร้างรายได้ อย่างโครงการบริหารจัดการหนี้โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) โครงการส่งเสริมและสร้างทักษะในการประกอบอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตร โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร และโครงการยกระดับศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่และผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชน ในการผลิตสินค้าชุมชน ช่วยให้เกิดการรวมกลุ่มผลิต พัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น การผลิตสบู่ โลชันจากโปรตีนไหม ดอกไม้จันทน์ พวงหรีด แปรรูปหน่อไม้ มะพร้าวแปรรูป (เวชสำอาง) และผลไม้คุณภาพ สามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มเป้าหมายและเกษตรกรแล้วในเบื้องต้น เฉลี่ย รายละ 17,612 บาทต่อเดือน”

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวสรุปโดยภาพรวมการขับเคลื่อนทั้ง 15 โครงการ กลุ่มเป้าหมายได้รับการพัฒนาอาชีพในด้านต่างๆ และได้นำความรู้ไปปฏิบัติใช้และต่อยอด มีการเชื่อมโยงตลาด รวบรวมผลผลิต ส่งเสริมเครื่องหมายตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ ส่งผลให้ปี 2565 ชุมชนสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์คิดเป็นมูลค่า 244,189 ล้านบาท.




Tag :
สถานที่สำคัญอื่นๆ